การทำงานของเครื่อง AED เครื่อง AED จะปล่อยไฟฟ้าอยู่ที่เท่าไร

 
ประกาศเกี่ยวกับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินไว้ว่า นอกจากสถานพยาบาลตามกฏหมายแล้ว อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะตามกฏหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร จะต้องมีการติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) ซึ่งจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้      
 
 - ตัวเครื่องมีลักษณะการทำงานแบบอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติ และมีปุ่มสำหรับปล่อยพลังงานไฟฟ้า     
 
 - ตัวเครื่องสามารถให้พลังงานไฟฟ้าได้เองโดยอัตโนมัติ โดยมีพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสม หากใช้สำหรับเด็กอยู่ที่ 50 จูล และสำหรับผู้ใหญ่ไม่น้อยกว่า 120 จูล      
 
 - ตัวเครื่องพร้อมทำการปล่อยพลังงานไฟฟ้าภายหลังการเริ่มวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจในระยะเวลาไม่เกิน 10 วินาที     
 
 - ตัวเครื่องสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ     
 
 - ตัวเครื่องสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่     
 
 - ตัวเครื่องมีมาตรฐานเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์
 
เครื่อง AED คืออะไร ใช้ประโยชน์ในเรื่องใด  เครื่อง AED คือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator) เป็นเครื่องที่สามารถวิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะได้อย่างแม่นยำ และทำการรักษาโดยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจ ทำให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะปกติได้อีกครั้ง มีประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ อันเป็นสิ่งที่เกิดได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างเฉียบพลัน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยชีวิตอย่างทันท่วงทีก็อาจนำพาไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด  
 
เครื่อง AED มักถูกติดตั้งอยู่ในสถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามบิน หรือแหล่งชุมชนที่มีผู้คนจำนวนมาก เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ทุกนาทีนั้นคือโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นเครื่อง AED จึงมีประโยชน์มากสำหรับการช่วยชีวิตในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา 
 
ทำไมจึงต้องมีเครื่อง AED บนอาคารสูง  เพราะภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้นเป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือน ไม่ว่าใครและไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็สามารถเป็นได้ แม้ไม่เคยมีโรคประจำตัวมาก่อน เราอาจจะเคยเห็นว่าในบางครั้งถึงแม้นักกีฬาที่แข็งแรงหรือคนธรรมดาที่อายุยังน้อยก็อาจล้มหมดสติลงได้ในระหว่างที่กำลังใช้ชีวิตปกติ และเนื่องจากบนอาคารสูงนั้นมักจะมีผู้คนจำนวนมากที่เดินทางเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ด้วยความที่มีหลายชั้น การเดินทางภายในอาคารอาจเกิดความล่าช้าและติดขัด หากเกิดเหตุฉุกเฉินอาจทำให้หน่วยกู้ภัยไม่สามารถเดินทางเข้าถึงตัวผู้ป่วยได้ทันเวลา ด้วยเหตุนี้การมีเครื่อง AED ติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ในอาคารที่เข้าถึงง่ายจะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงทีก่อนทีมกู้ภัยจะมาถึง  ซึ่งนอกจากเครื่อง AED จะใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติแล้ว ยังสามารถช่วยชีวิตในยามที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน อย่างสถานการณ์ไฟไหม้หรือเหตุขัดข้องภายในอาคารต่างๆ อันทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นการมีเครื่องมือชนิดนี้ติดตั้งไว้ให้พร้อมบนอาคารสูงทุกแห่งก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตจากอุบัติเหตุเหล่านั้น และช่วยชีวิตผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ทันเวลา  
 
อาคารประเภทใดที่เข้าข่ายต้องติดตั้งเครื่อง AED จากกฎกระทรวงที่ได้กำหนดเอาไว้ว่า อาคารที่จะต้องมีการติดตั้งเครื่อง AED ได้แก่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.อาคาร 2522 ได้ให้ความหมายเพิ่มเติมไว้ดังนี้          
 
- อาคารสูง คือ อาคารที่บุคคลเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป         
 
- อาคารขนาดใหญ่พิเศษ คือ อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้พื้นที่อาคารหรือส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป        
 
- อาคารสาธารณะ คือ อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมได้โดยทั่วไป เพื่อกิจกรรมทางราชการ การเมือง การศึกษา การศาสนา การสังคม การนันทนาการ หรือการพาณิชยกรรม เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา หอสมุด สนามกีฬากลางแจ้ง สนามกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ท่าอากาศยาน อุโมงค์ สะพาน อาคารจอดรถ สถานีรถ ท่าจอดเรือ โป๊ะจอดเรือ สุสาน ฌาปนสถาน ศาสนสถาน เป็นต้น  
 
ขั้นตอนการใช้เครื่อง AED ในนาทีฉุกเฉิน  เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินควรรีบติดต่อทีมกู้ภัยโดยทันทีและระหว่างที่รอทีมกู้ภัยมาถึงสามารถใช้เครื่อง AED ช่วยชีวิตผู้ป่วยเบื้องต้นได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้      
 
- พยุงตัวผู้ป่วยให้นอนราบลงบนพื้นและทำการเปิดเครื่อง      
 
- ติดแผ่นนำไฟฟ้าเข้ากับหน้าอกของผู้ป่วย โดยหน้าอกของผู้ป่วยต้องแห้งสนิท ไม่เปียกน้ำหรือเปียกเหงื่อ     
 
- ปล่อยมือออกจากตัวผู้ป่วยทันที ให้เครื่องเริ่มทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ     
 
- เมื่อเครื่องส่งสัญญาณเตือน ให้กดปุ่ม SHOCK ทันที 
 
ข้อควรระวังคือ เมื่อติดแผ่นนำไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว ห้ามไม่ให้มีการสัมผัสตัวผู้ป่วยโดยเด็ดขาด และก่อนที่จะกดปุ่ม SHOCK ควรให้คนรอบข้างถอยห่างออกจากตัวผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าช็อต 
 
ข้อควรรู้ในการติดตั้งเครื่อง AED บนอาคารสูง      
 
 - ควรติดตั้งในจุดที่เข้าถึงง่าย ไม่มีสิ่งกีดขวาง     
 
 - ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญ คอยให้การดูแลและรับผิดชอบให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ     
 
 - ไม่ควรจัดเก็บแบบปิดล็อกอย่างแน่นหนาจนยากต่อการนำไปใช้     
 
 - ไม่ควรติดตั้งในจุดที่เสี่ยงต่อการโดนแดดหรือฝน เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องเสื่อมสภาพ
 
 
 
 
 
 
Visitors: 20,648